News

“ส.อ.ท.” โอดพิษขาดแคลนชิป กังวลรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ออเดอร์รถยนต์นั่งเดือนก.พ.วูบ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีทั้งสิ้น 155,660 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 0.30 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 2.58 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการผลิตรถกระบะขายในประเทศและผลิตส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.82 และ 10.95 แต่การผลิตรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 28.64 จากการการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนในบางรุ่น และยังกังวลว่าการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนอาจรุนแรงขึ้นจากสงครามยูเครน จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่รถบรรทุก เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผลิตได้ทั้งหมด 113,762 คัน และตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ผลิตได้ทั้งสิ้น 220,274 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 15.34 ที่ผลิตได้มากขึ้นเนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบเรื่องปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดีจำนวนรถบรรทุกที่ผลิตได้มากจึ้นเป็นการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผลิตได้ 82,300 คัน เท่ากับร้อยละ 52.87 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 6.81 ส่วนเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 159,612 คัน เท่ากับร้อยละ 51.92 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2564 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 8.3 รถยนต์นั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผลิตเพื่อการส่งออก 16,873 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 42.50 และตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ผลิตเพื่อส่งออกได้ทั้งสิ้น 29,665 คัน เท่ากับร้อยละ 34.05 ของยอดผลิตรถยนต์นั่ง ซึ่งลดลงจากเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 49.99

ขณะที่รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มียอดการผลิตเพื่อการส่งออก 65,427 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 10.95 และตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2565 ผลิตเพื่อส่งออกได้ทั้งสิ้น 129,947 คัน เท่ากับร้อยละ 60.82 ของยอดการผลิตรถกระบะ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 13.20 การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผลิตได้ 73,360 คัน เท่ากับร้อยละ 47.13 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 9.68 และเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 ผลิตได้ 147,795 คัน เท่ากับ ร้อยละ 48.08 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 14.39 รถยนต์นั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 25,025 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 14.79

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 74,489 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 7.25 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 26.3 เพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลอนุญาตให้จัดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจมากขึ้น การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 การรับประกันรายได้เกษตรกร การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่นคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การส่งเสริมการขายของผู้จำหน่ายรถยนต์ และงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ โชว์ จะช่วยเพื่มยอดขายรถยนต์ในเดือนมีนาคมและเมษายนโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 149,124 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 2.78 และลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 14.60

โดยการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งออกได้ 79,451 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว ร้อยละ 13.77 และลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 0.02 ลดลงจากการชะลอผลิตรถยนต์นั่งบางรุ่นเพราะขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่ยังคงส่งออกเครื่องยนต์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นตามการเปิดโรงงานผลิตของประเทศคู่ค้า โดยมีมูลค่าการส่งออก 45,539.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 5.70 มูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 71,482.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 5.33

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ยังคงเป้าผลิตรถยนต์ตลอดทั้งปีไว้ที่ 1.8 ล้านคัน เพราะจากงาน Motor show 2022 รอบสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ดูคึกคัก มีผู้สนใจเข้าชมจำนวนมาก คาดว่าในงานน่าจะขายได้ได้มากกว่า 30,000 คัน หรือมากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะรถไฟฟ้า 100% หรือรถ EV ที่เห็นมีหลายค่ายนำเข้ามาให้จองในงาน และคาดว่าปีนี้ะมีการจดทะเบียนรถ EV ประมาณ 4,000คัน แต่หากมีการนำเข้ารถ EV ราคาถูก หรือประมาณ 600,000 บาทเข้ามา ก็น่าจะมียอดจดทะเบียน 8,000-10,000คัน ขณะที่สถานีชาร์จก็มีเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อก็ยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องสถานีชาร์จที่ยังมีไม่มากพอ และราคารถไฟฟ้า 100% ยังสูงอยู่ จึงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และอยากให้บอร์ด EV ช่วยพิจารณาเรื่องราคา เพื่อจูงใจผู้ซื้อ

ส่วนปัญหาขาดแคลนชิปเซมีคอนดักเตอร์นับว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบริษัทผลิตรถยนต์ ขนาดช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ยังไม่มีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน การผลิตรถในบ้านเราก็เริ่มมีปัญหาแล้ว และยิ่งขณะนี้บริษัทผลิตชิ้นส่วนในรัสเซียหยุดผลิตก็ยิ่งจะส่งผลกระทบ นอกจากนี้ รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกแร่นิเกิล พาราเดียม ปริมาณมากถึง 40%ของโลก ซึ่งสินแร่เหล่านี้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตชิ้นส่วนก็ยิ่งเป็นอุปสรรคทำให้ขาดชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนก๊าซนิออน ในยูเครน ที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ก็ส่งออกไม่ได้ ทำให้ปัญหาขาดแคลนชิปหนักยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งการขาดแคลนสินแร่เหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้น ต้องจับตาว่าปัญาสงครามจะจบลงเมื่อใด หรือจะบานปลายไปมากน้อยขนาดไหน

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy