News

บล.ยูโอบี คาด SCB กำไรไตรมาสแรก 1 หมื่นล้าน ปั้น ROE ทะยาน 20%

บล.ยูโอบีฯ วิเคราะห์ “ยานแม่ SCBX” พลิกเกมธุรกิจแบงก์ปั้น ROE แตะ 20% พร้อมประเมินผลประกอบการ SCB ไตรมาส 1/2565 กำไร 1 หมื่นล้านบาท คาดหนี้เสียทรงตัว แนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 149 บาท

วันที่ 3 เมษายน 2565 นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ไปสู่ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) นั้น ภาพจากนี้ไปของกลุ่ม SCBX ซึ่งมีธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจอื่นที่แยกออกมาจากธนาคาร เช่น Crad X, Auto X, Alpha X หรือแม้ธุรกิจที่เคยอยู่กับธนาคารจะไปอยู่ภายใต้การจัดโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นเรื่องการทำธุรกิจใหม่ เช่น Tech Company การขยายการลงทุนในฟินเทค และลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

โดยในส่วนของตัวธุรกิจธนาคาร ล่าสุด มีการแต่งตั้งนายกฤษณ์ จันทโนทก มานั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ถือว่าค่อนข้างมีประสบการณ์ทำงานกับธนาคารอยู่แล้ว และเคยทำงานกับบริษัทประกัน เชื่อว่าคงจะมาช่วยเติมเต็มธุรกิจประกันในการขยายรายได้ให้กับ SCB ได้แน่นอน เพราะมีความเชี่ยวชาญที่ดี

ขณะเดียวกันประสบการณ์จากการทำงานธนาคารจะมีความเข้าใจในรูปแบบธุรกิจธนาคารด้วย ซึ่งต้องติดตามต่อไป โดยอาจจะทำธุรกิจเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจธนาคาร ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

ส่วนผู้บริหารที่ย้ายไปอยู่ SCBX คงจะไปโฟกัสในธุรกิจใหม่มากขึ้น ที่จะสร้างผลตอบแทนหรืออัตราการเติบโตมากขึ้น เพราะเหตุผลที่ SCB มีการปรับโครงสร้างใหม่ อาจจะมองว่าธุรกิจธนาคารวันนี้ไม่มีการเติบโตที่สูงเพราะอิงกับทิศทางเศรษฐกิจ และในแง่ของมูลค่าหุ้น การซื้อขายหุ้นธนาคารอยู่ระดับแค่ 1 เท่า Price to Book Value และระดับ P/E ที่ 8-10 เท่า

หากเปรียบเทียบธุรกิจ Tech company หรือบริษัทไอซีทีในตลาดหุ้นไทยจะซื้อขายที่ระดับ P/E ที่สูงกว่า หรือประมาณ 20 เท่า เพราะตลาดจะให้พรีเมียมกับธุรกิจที่มีอะไรใหม่ ๆ ออกมาโดยเฉพาะ Tech Company เห็นได้จากบริษัทเทคฯ ในต่างประเทศจะซื้อขายหุ้นในระดับที่สูงมาก

“เหตุผลที่ SCBX ปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อจะทำให้ ROE ใน 5 ปีข้างหน้ามีสัดส่วน 15-20% ตามเป้าที่วางไว้ จากปัจจุบัน ROE ของแบงก์อยู่แค่ 9-10% เท่านั้นเอง” นายธนเดชกล่าว

นายธนเดช กล่าวด้วยว่า ประเมินกำไร SCB ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เติบโต 2% จากปีก่อน และเติบโต 30% จากไตรมาสก่อนหน้า คล้าย ๆ กับธนาคารอื่น อาทิ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นต้น ซึ่งรายได้หลักของ SCBX ยังคงมาจากธุรกิจธนาคาร เพราะธุรกิจใหม่ยังเป็นแค่โครงสร้าง แต่คาดหวังจะมีรายได้ในอนาคต

ส่วนหนี้เสีย (NPL) น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงไตรมาส 4/2564 ยังอยู่ในกรอบที่ SCB ให้ไว้ ยังคงแนะนำซื้อ SCB ที่ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2565 ที่ 149 บาท แต่ราคาดังกล่าวเป็นราคาของธุรกิจธนาคาร โดยประมาณไตรมาส 3 จะมีการปรับราคาเป้าหมายใหม่ตามโครงสร้างของ SCBX ที่ธุรกิจธนาคารไปอยู่ภายใต้โฮลดิ้ง

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance